ชวนรู้จักแมลงก้นกระดก แมลงตัวเล็กที่มีหัวและปีกสีดำหรือน้ำเงินเข้ม และส่วนท้องสีส้มเด่นชัดทำให้สังเกตได้ง่ายแม้จะเคลื่อนที่ค่อนข้างไว และพบเจอได้ทั่วไปในประเทศทั่วไป โดยเฉพาะหน้าฝน แม้จะเป็นแมลงตัวเล็กแต่พิษร้ายนัก เพียงสัมผัสโดนก็สามารถได้รับสารพิษพีเดอริน (Pederin) ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการคัน แสบร้อนและผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง การเรียนรู้ วิธีดูแลแผลจากพิษแมลงก้นกระดก จึงสำคัญเพื่อรับมือกับอาการเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที
รู้ได้อย่างไรว่าโดนพิษจากแมลงก้นกระดก
เมื่อสัมผัสโดนตัวแมลงก้นกระดก เจ้าแมลงจะปล่อยพิษพีเดอริน (Pederin) ออกมา ซึ่งเป็นกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อส่งผลให้เกิดผื่นแดงคล้ายรอยไหม้เป็นทางยาวขีดๆบนผิวหนังและมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามมาใน 6 – 12 ชั่วโมงร่วมกับการเกิดตุ่มน้ำใส ที่สำคัญควรสังเกตอาการแพ้ หากร่างกายตอบสนองต่อพิษโดยเริ่มมีไข้ ปวดหัว หรือคลื่นไส้อาเจียน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
วิธีดูแลแผลเมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดกด้วยน้ำเกลือ
สิ่งแรกที่ควรทำทันทีเมื่อสัมผัสกับแมลงก้นกระดกคือรีบทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่โดนพิษโดยการใช้ น้ำเกลือฉลากเขียวคลีนแอนด์แคร์ เทบนผิวให้น้ำไหลผ่าน ไม่ควรเช็ด ถู หรือ ขยี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พิษกระจายและลุกลามเป็นวงกว้างขึ้น พยายามไม่เกาแผล หากระคายเคืองหรือยังคงปวดแสบปวดร้อนให้ใช้การประคบเย็น ระหว่างนี้หากมีตุ่มน้ำใสหรือแผลพุพองปรากฏขึ้นให้เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผลหรือใช้สำลีชุบน้ำเกลือประคบทิ้งไว้ 5-10 นาทีอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้งเพื่อดูแลไม่ให้แผลติดเชื้อจนเกิดแผลเป็น ส่วนใหญ่แผลจากแมลงก้นกระดกจะแห้งตกสะเก็ดเป็นรอยดำและจะจางหายไปเอง ทั้งนี้ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์
ป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากแมลงก้นกระดก
ระมัดระวังการอยู่ในที่รกหรือมีพงหญ้าในช่วงอากาศชื้น โดยเฉพาะในตอนกลางคืนควรเช็คหน้าต่างหรือมุ้งลวดให้ดีว่าปิดสนิท เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงก้นกระดกบินเข้ามาตามแสงไฟ ควรตรวจบริเวณที่นอนโดยการปัดกวาดที่นอนหรือผ้าห่มให้แน่ใจว่าไม่มีแมลง ที่สำคัญหากแมลงก้นกระดกอยู่บนผิวหนังให้ใช้การเป่าออกแทนการจับหรือปัด หลีกเลี่ยงการขยี้หรือตบตัวแมลงเพื่อป้องกันไม่ให้พิษกระจายเป็นวงกว้าง
ท้ายที่สุดแล้ว สภาพอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกบ่อยของบ้านเราทำให้พบเจอแมลงก้นกระดกได้โดยทั่วไป แม้ว่าพิษของแมลงสีส้มมีปีกนี้จะไม่รุนแรงระดับทำให้เสียชีวิต แต่ก็อันตรายกับส่วนสำคัญของร่างกายอย่างใบหน้าหรือดวงตา จึงควรป้องกันไว้แต่เนิ่นๆด้วยการปิดประตูหน้าต่างในตอนกลางคืน หลีกเลี่ยงการสัมผัส ตีหรือบี้ ตัวแมลง เมื่อพบเจอให้ใช้กระดาษช้อนออกหรือสก็อตเทปแปะ และหากโดนพิษให้รีบทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผลโดยทันที จะดีที่สุด
ที่มาข้อมูล:
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3225135/
- https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=965
- https://www.aocd.org/page/PaederusDermatitis